เหรียญพระดี รุ่นดัง พุทธคุณเข้มขลัง ทรงคุณค่า จากพระเกจิอาจารย์แห่งเมืองกรุงเก่า VANDA’S จึงนำมาเลี่ยมตลับทองคำฉลุลวดลาย “เถาตำลึง” ทรงรูปไข่รับตามทรงของเหรียญทั่วทั้งตลับ เปิดให้เห็นความงามขององค์พระทั้งด้านหน้าและด้านหลัง ดีไซน์ให้ตลับสามารถซ่อนขั้วพระได้ มีความหนา แข็งแรง เพิ่มความโดดเด่นด้วยการประดับเพชรแท้ระดับน้ำ 100 D-Color/VVS1 จำนวน 31 เม็ด น้ำหนัก 0.32 กะรัต บริเวณล้อมรอบตลับ โดยใช้เทคนิคการฝังเพชรแบบจิกไข่ปลา ซึ่งต้องอาศัยทักษะฝีมือขั้นสูงจากช่างผู้เชี่ยวชาญ จึงจะรังสรรค์ผลงานให้มีความประณีตเช่นนี้ เป็นงานเครื่องประดับแนวจิวเวลรี่ที่จัดว่าสวยหรูละเอียดและประณีต และมีความมงคลควรค่าแก่การประดับติดกายไว้เป็นเครื่องประดับเสริมมงคลคู่ใจในทุกโอกาส
เสริมคุณค่าและมูลค่าให้กับเหรียญด้วยการเลือกงานเลี่ยมตลับเพื่อรักษาสภาพเหรียญให้คงอยู่อย่างยาวนาน และสามารถเปลี่ยนดีไซน์ได้ง่ายในอนาคต
เหรียญนี้ดีพร้อมด้วยความมงคล โดยมีทั้งรูปหลวงปู่ทวดและปลุกเสกโดยหลวงปู่ดู่ พรหมปัญโญ วัดสะแก จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ใครได้บูชาเหรียญนี้ไปเรียกได้ว่าแขวนเหรียญเดียวได้บารมีของพระถึงสองท่าน โดยเหรียญนี้มีพุทธคุณโดดเด่นในด้าน แคล้วคลาด เมตตามหานิยม เป็นเหรียญที่ควรค่าแก่การเก็บสะสมบูชาเป็นอย่างมากค่ะ
จี้เหรียญหลวงปู่ดู่ พรหมปัญโญ รุ่นเปิดโลก ปี 2532 รูปหลวงปู่ทวด (ฐานบัว) เนื้อเงิน เหรียญเปิดโลกนี้ เป็นวัตถุมงคลของหลวงปู่ดู่รุ่นที่ได้รับความนิยมสูง จัดสร้างจำนวนน้อย โดยเหรียญนี้หลวงปู่ดู่ได้กำหนดวันประกอบพิธีอธิษฐานจิตในวันที่ท่านเรียกว่า “วันธงชัย” ซึ่งตรงกับวันอังคารที่ 29 สิงหาคม 2532 เวลา 2 ทุ่ม
โดยเช้าวันรุ่งขึ้น ได้มีลูกศิษย์หลวงปู่ที่เป็นนักปฏิบัติบางคน ซึ่งไม่ได้มาร่วมงาน ได้กราบเรียนหลวงปู่ว่า เมื่อคืนไม่รู้ที่วัดสะแกมีอะไรกำหนดจิตดูเห็นหลวงปู่ทวดลอยอยู่เต็มท้องฟ้าวัดสะแก แล้วหลวงปู่ท่านก็พูดเปรย ๆ ขึ้นว่า “เมื่อคืนข้าเสกให้แบบเปิดสามโลกเลยนะ” เป็นที่มาของการพูดปากต่อปากกระทั่งกลายมาเป็นชื่อรุ่นว่า “รุ่นเปิดสามโลก” หรือเรียกสั้นๆ ว่า “รุ่นเปิดโลก” และเป็นเหรียญที่ หลวงพ่อเกษมเขมโก แห่งสุสานไตรลักษณ์ ยังเคยกล่าวกับโยมว่า “เคยได้ยินเหรียญเปิดโลกไหม ให้ไปหามาบูชา เหรียญนี้ดี”
เดิมทีคณะศิษย์เจตนาจะจัดสร้างเหรียญรูปเหมือนหลวงปู่ดู่ แต่ท่านกลับแนะนำว่าสร้างรูปเคารพครูบาอาจารย์คือหลวงปู่ทวดดีกว่า ท่านเน้นว่ายังไงก็ต้องให้มีข้อความว่า “หลวงพ่อทวด เหยียบน้ำทะเลจืด” นั่งขัดสมาธิบนฐานบัว มีลูกแก้วบนฝ่ามือ เพื่อเป็นสัญลักษณ์ทั้งของวัดช้างให้และวัดพะโคะ เนื่องจากลูกแก้วคู่บารมีของหลวงปู่ทวดถูกเก็บรักษาไว้ที่วัดพะโคะ สำหรับการนั่งบนดอกบัวนั้น เป็นนิมิตที่ท่านแสดงถึงความปรารถนาพุทธภูมิ
รายละเอียดทั้งด้านหน้าและด้านหลัง
- ฐานเป็นรูปดอกบัว ซึ่งถือเป็นเอกลักษณ์ขององค์หลวงปู่ทวด เพราะสื่อถึงความเป็นพระโพธิสัตว์ที่บารมีเต็มแล้ว ลูกแก้วบนฝ่ามือหลวงปู่ทวด ซึ่งสร้างตามอย่างความนิยมของวัดพะโคะ จังหวัดสงขลา
- อักขระ “พุท ธะ สัง มิ” ที่ด้านหน้า หมายถึงหัวใจของพระไตรสรณคมณ์ คือ พุทธังสรณังคัจฉามิ ธัมมัง สรณัง คัจฉามิ และสังฆัง สรณัง คัจฉามิ” ซึ่งหลวงปู่ดู่ท่านให้ลูกศิษย์ใช้เป็นคำบริกรรมภาวนา
- เส้นรัศมีโดยรอบขอบด้านหลัง หมายถึงอานุภาพแห่งคุณพระพุทธ คุณพระธรรม คุณพระสงฆ์ ที่มีมากอย่างจะนับจะประมาณมิได้ และแผ่ออกไปได้ทุกทิศทุกทาง
- อักขระ “นะ โม พุท ธา ยะ” ที่ด้านหลัง หมายถึงพระนามย่อของพระพุทธเจ้า ๕ พระองค์ ซึ่งสอดคล้องกับความเชื่อและคำกล่าวของหลวงปู่ดู่ที่ว่าหลวงปู่ทวด ท่านบารมีเต็มแล้ว ท่านจะมาตรัสรู้เป็นพระศรีอาริยเมตไตร (พระพุทธเจ้าองค์ที่ ๕)
- กึ่งกลางอักขระ “นะ โม พุท ธา ยะ” คือ “นะ” ที่มีเส้นขมวด ๓ รอบ ที่หลวงปู่ดู่ใช้จารในวัตถุมงคลของท่านเสมอ ๆ
- ด้านซ้ายของชื่อพระพรหมปัญโญ จะพบพยัญชนะ “ด” ซึ่งหมายถึงหลวงปู่ดู่ ส่วนด้านขวาจะพบสัญลักษณ์คล้ายกากบาท (เลข ๕ โบราณ) ซึ่งหมายถึงหลวงปู่ทวด
- รูปแบบขอบเหรียญที่เป็นลายกนก รวมทั้งลักษณะฐานบัวที่ประทับนั่งของหลวงปู่ทวดนั้น เป็นการออกแบบโดยช่างอ๊อด