The Legend of Gold สำรวจตำนาน ‘กรุมหาสมบัติล้ำค่า’ แห่งวัดราชบูรณะ

หากพูดถึงกรุสมบัติดังในตำนานแห่งเมืองอยุธยา รับรองว่าต้องมี ‘กรุวัดราชบูรณะ’ ติดอยู่ใน Top 3 อย่างแน่นอน ว่าแต่ทำไมชื่อเสียงของกรุแห่งนี้ถึงโด่งดังเป็นที่โจษจัน VANDA’S ชวนทุกคนไปไขปริศนาพร้อมกันเลย!

ก้าวข้ามประตูแห่งกาลเวลา ย้อนสำรวจประวัติศาสตร์ความมั่งคั่งในสมัยกรุงศรีอยุธยา ผ่านการเยี่ยมชมเครื่องทองโบราณสุดอร่ามตา จากกรุวัดราชบูรณะอันเก่าแก่กว่าหกศตวรรษที่ “พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยา” จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

สำหรับมรดกทางวัฒนธรรมที่ค้นพบในกรุวัดราชบูรณะ ถือเป็นสมบัติของชาติอันทรงคุณค่าและเปี่ยมมูลค่า ที่หลงเหลือสืบทอดต่อมาให้คนรุ่นหลังได้ศึกษาและสัมผัสถึงความวิจิตรตระการตาในอดีตกาล โดยส่วนที่คงเหลือมาถึงปัจจุบันนั้น รอดพ้นมาจากการเหตุการณ์การเสียกรุง รวมถึงได้กลับคืนมาจากการจับกุมคนร้ายที่ลักลอบขุดกรุเมื่อปี 2500 ซึ่งเหตุการณ์ดังกล่าวนี้เอง ทำให้วัดราชบูรณะเป็นที่รู้จักในวงกว้าง รู้แบบนี้แล้วจะพลาดได้อย่างไร… มาสำรวจมหาสมบัติล้ำค่าด้วยตาคุณเองดีกว่า!  

สำรวจความมั่งคั่ง ทำไมคนสมัยอยุธยาชอบใส่ทอง?

ก่อนอื่นขอเล่าเท้าความให้ฟังกันสักนิด กับความสำคัญของเครื่องประดับทองคำในสมัยอยุธยา อย่างที่ทุกคนทราบกันดีว่า กรุงศรีอยุธยาในอดีตเป็นเมืองท่าศูนย์กลางการค้าขาย เรียกว่าเป็นยุคทองแห่งความมั่งคั่งเลยก็ว่าได้ โดยในยุคนั้นนิยมใช้ “เครื่องทอง” เป็นเครื่องราชบรรณาการ เพื่อสร้างสัมพันธไมตรีกับชาวต่างชาติ แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของทองในการเป็นสื่อกลางนั่นเอง ทั้งนี้ ยังนิยมใช้ในพิธีกรรมต่าง ๆ และงานสำคัญทางพุทธศาสนา ไม่ว่าจะเป็นพิธีโกนจุก ขึ้นบ้านใหม่ หรืองานแต่งงาน เป็นต้น

นอกจากนี้ “ทอง” ยังเป็นเครื่องสะท้อนลำดับชนชั้นทางสังคมอีกด้วย โดยในสมัยอยุธยาได้กำหนดการสวมเครื่องประดับในราชสำนัก โดยพระมหากษัตริย์จะสวมพระมหามงกุฎ พระอัครมเหสีสวมมงกุฎ พระราชเทวีและพระอัครชายาสวมพระมาลามวยหางหงส์ ส่วนผู้ที่ทำงานรับใช้ฝ่ายในจะมีการเกล้ามวยผมและมีเครื่องประดับตกแต่ง เช่น สนองเกล้า ปิ่นปักผม หรือเกี้ยว สำหรับเครื่องประดับของเจ้านายชั้นสูงในราชสำนักจะมีการตกแต่งด้วยอัญมณีมีค่า รวมทั้งมีการใช้เทคนิคการลงยา เพื่อให้เกิดลวดลายที่สวยงาม แสดงให้เห็นถึงความประณีตบรรจงของช่างสมัยอยุธยาได้เป็นอย่างดี

ในกลุ่มคนที่มีอำนาจฐานะและขุนนางชั้นสูงจะสวมเครื่องประดับที่ทำมาจากทองคำประดับอัญมณีหรือแก้วสีต่าง ๆ แต่ความประณีตจะไม่เท่ากับเครื่องประดับในราชสำนัก ส่วนสามัญชนทั่วไปนิยมสวมเครื่องประดับทองและเงินที่มีลักษณะเกลี้ยง เรียบ และไม่มีการประดับอัญมณี

จะเห็นได้ว่า ในสมัยอยุธยานั้นให้ความสำคัญกับเครื่องประดับโดยเฉพาะทองคำเป็นอย่างมาก เปรียบดั่งของคู่บ้านคู่เมืองมาแต่ไหนแต่ไร มรดกตกทอดที่ค้นพบภายในกรุวัดราชฯ จึงมักเป็นงานทองคำเสียส่วนใหญ่ นอกจากจะแสดงถึงความร่ำรวยของผู้คนและความมั่งคั่งของเมืองสยามในอดีตแล้ว ยังคลาคล่ำไปด้วยช่างหัตถกรรมฝีมือชั้นเยี่ยม เช่น ช่างเครื่องถม ช่างเครื่องมุก ช่างพระพุทธรูป ช่างทอง และช่างสิบหมู่ เรียกว่าเป็นยุคที่งานประณีตศิลป์เจริญขั้นสูงสุดเลยทีเดียว 

เปิดกรุ 3 ชั้น เจาะลึกสมบัติสุดล้ำค่า

ไฮไลต์ด้านในพระปรางค์ประธานที่ไม่พูดถึงไม่ได้เลยคือ “กรุสมบัติ 3 ชั้น” ของวัดราชบูรณะที่ยังคงหลงเหลือมาสู่ยุคปัจจุบัน จากข้อมูลภายในห้องจัดแสดงนิทรรศการเครื่องทอง ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยา บรรยายรายละเอียดข้อมูลของกรุแต่ละชั้นไว้ดังนี้

  • กรุชั้นที่ 1 หรือชั้นบนสุด สร้างลึกลงไปจากพื้นเรือนธาตุ ประมาณ 3.70 เมตร แผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมเกือบจัตุรัส กว้างประมาณ 3.95 เมตร ยาวประมาณ 4 เมตร ผนังทั้ง 4 ด้านสร้างสูงจากกรุ 25 ซม. เป็นภาพจิตรกรรมเขียนด้วยเทคนิคสีฝุ่นผสมกาวแบบเทมพอรา (Tempera) การวางภาพแบ่งเป็น 2 ส่วน โดยผนังด้านทิศเหนือและทิศตะวันตกเขียนเป็นภาพเทพชุมนุมเหาะอยู่เต็มห้อง จำนวน 13 องค์ ส่วนผนังด้านทิศตะวันออกและทิศใต้เขียนเป็นภาพบุคคลต่าง ๆ ทั้งขุนนาง เด็ก ผู้ใหญ่ และคนรับใช้จำนวน 22 คน ภายในกรุชั้นนี้ บรรจุพระพุทธรูปและพระพิมพ์จำนวนมาก
  • กรุชั้นที่ 2 หรือชั้นกลาง แผนผังเป็นสี่เหลี่ยมกว้าง 1.40 เมตร สูง 2.75 เมตร ผนังทั้ง 4 ด้าน ทำเป็นซุ้มลึกเข้าไปประมาณ 37 ซม. รอบผนังและรอบซุ้มมีภาพเขียนจิตรกรรมเกี่ยวกับพุทธศาสนาด้วยสีชาดเต็มผนังทุกด้าน ซึ่งเขียนด้วยเทคนิคแบบปูนเปียก (Fresco) เพดานกรุมีลวดลายเต็มเพดาน ภายในซุ้มทิศเหนือ ทิศตะวันออก และทิศตะวันตก มีโต๊ะสำริดวางอยู่ซุ้มละ 1 ตัว สำหรับวางของมีค่าต่าง ๆ กรุชั้นนี้บรรจุเครื่องทองจำนวนมากที่สุด ประกอบด้วยเครื่องราชูปโภคทองคำ เครื่องราชกกุธภัณฑ์ เครื่องประดับต่างๆ และปรางค์ทองคำ ทั้งนี้ รอบกรุประธานยังมีกรุบริวารอีกจำนวน 4 กรุ ซึ่งภายในบรรจุพระพุทธรูปและพระพิมพ์จำนวนมาก
  • กรุชั้นที่ 3 หรือชั้นล่างสุด ขนาดกว้าง 1.4 เมตร สูง 1.2 เมตร ภายในกรุกั้นก่อเป็นห้องสี่เหลี่ยมเล็ก ๆ กว้างยาวประมาณ 0.80 เมตร กลางห้องประดิษฐานครอบพระเจดีย์ 4 ชั้น บรรจุพระเจดีย์ทองคำประดับอัญมณี สำหรับพระบรมสารีริกธาตุบรรจุอยู่ในครอบและเจดีย์ที่ทำจากวัสดุต่างกัน ซึ่งซ้อนกันถึง 7 ชั้น โดยชั้นนี้ไม่มีการเขียนภาพจิตรกรรมฝาผนังและไม่มีกรุบริวารล้อมรอบ

โดยกรุชั้นที่ 1 และ 2 ได้ถูกลักลอบขุดจากคนร้ายในช่วงเดือนกันยายน ปี 2500 ทำให้ทรัพย์สมบัติบางส่วนหายสาบสูญไป แต่กรุชั้นที่ 3 เป็นส่วนที่คนร้ายยังขุดไปไม่ถึง จึงมีความสมบูรณ์มากที่สุด ต่อมากรศิลปากรได้เข้าตรวจสอบพื้นที่และขุดค้นต่อ เพื่อรวบรวมโบราณวัตถุมาเก็บรักษาไว้เป็นสมบัติชาติ พร้อมบูรณะเป็นที่เรียบร้อย อันทำให้เราได้มายลโฉมกันในวันนี้

สำหรับเครื่องทองคำในกรุพระปรางค์วัดราชฯ ที่หลงเหลืออยู่แบ่งเป็นประเภทใหญ่ ๆ ได้ดังนี้

    1. เครื่องราชูปโภค ได้แก่ ภาชนะเครื่องใช้สอยประจำพระองค์ของพระมหากษัตริย์ เช่น พระสุพรรณราช (กระโถนปากแตรใหญ่) พระมณฑปรัตนกรัน (ที่ใส่น้ำเสวย) พระเต้าทักษิโณทก (ที่กรวดน้ำหรือหลั่งอุทิศ) พานพระขันหมาก (พาน 2 ชั้น) พระคชาธารจำลอง 
    2. เครื่องราชกกุธภัณฑ์ คือ สัญลักษณ์แสดงถึงความเป็นพระมหากษัตริย์หรือเครื่องใช้ประกอบพระอิสริยยศของพระมหากษัตริย์ อาทิ พระมหาพิชัยมงกุฏ พระแสงขรรค์ชัยศรี และธารพระกร 
    3. เครื่องทรงและเครื่องประดับของกษัตริย์และเจ้านาย เครื่องทรงหรือฉลองพระองค์ของกษัตริย์ที่บรรจุรวมไว้ในกรุมีจำนานมาก แต่สิ่งที่คงเหลืออยู่มีแต่ชิ้นที่ทำด้วยทองเท่านั้น อาทิ กรองศอ สังวาลและทับทรวง พาหุรัดและทองกร กำไลและธำมรงค์ เป็นต้น
    4. สถาปัตยกรรมจำลอง มีทั้งเจดีย์ทองคำจำลอง พระปรางค์จำลอง และชิ้นส่วนประดับตกแต่งองค์ปรางค์
    5. พระพุทธรูปและเทวรูป เช่น พระแผ่นทอง พระพุทธรูปนูนสูง และพระพุทธรูปลอยตัวจารึก แบ่งเป็นจารึกลายทองอักษรขอม อักษรไทย อักษรจีน และจารึกบนเหรียญทองเป็นอักษรอาหรับ

เสน่ห์งานทองคำโบราณจากกรุวัดราชบูรณะ ถือเป็นเครื่องยืนยันความรุ่งเรืองมั่งคั่งของอยุธยาในช่วงเวลานั้นได้เป็นอย่างดี แถมยังป็นสิ่งล้ำค่าที่หาชมได้ยากยิ่งในยุคปัจจุบัน หากใครมีโอกาสอย่าลืมเดินทางมาเยี่ยมชมสถาปัตยกรรมอันเก่าแก่ ณ สถานที่จริงที่วัดราชบูรณะกันดูสักครา จากนั้นต้องไม่พลาดไปยลเครื่องประดับสุดตระการตาจากกรุวัดราชฯ ที่ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยา นอกจากจะสนุกและตื่นตาตื่นใจแล้ว ยังได้ความรู้ทางประวัติศาสตร์ติดไม้ติดมือกลับไปอีกด้วย 

และอีกหนึ่งสถานที่สุดท้ายที่เราอยากแนะนำให้รู้จักคือ VANDA’S Gallery แฟลกชิปสโตร์แห่งใหม่ใจกลางเมืองมรดกโลก ที่เราได้รับแรงบันดาลใจมาจากกรุสมบัติวัดราชบูรณะ ด้วยการเนรมิตพื้นที่กว่า 400 ตารางเมตร ให้เป็นกรุสมบัติของแวนด้า ภายในจัดแสดงศิลปะและของสะสมส่วนตัวของผู้บริหาร พร้อมตกแต่งด้วยสีทองหรูหราสะท้อนความรุ่งเรืองของอยุธยาอดีตราชธานีเก่า ในบรรยากาศผ่อนคลายและเป็นส่วนตัว ชวนลูกค้ามาสัมผัสประสบการณ์สุดพิเศษไม่เหมือนใคร ติดตามได้เร็ว ๆ นี้ 

อ้างอิง

  • ฑกมล รัตนพงศ์. (2558). เสน่ห์งานเครื่องทองกรุวัดราชบูรณะ พลังของสุนทรียะทางหัตศิลป์สู่เครื่องประดับร่วมสมัย. วิทยานิพนธ์หลักสูตรปริญญามหาบัณฑิต สาขาวิชาการออกแบบเครื่องประดับ มหาวิทยาลัยศิลปากร 
  • ภูวษา เรืองชีวิน, n.d. รูปแบบกรุ และภาพจิตรกรรมในกรุพระปรางค์ วัดราชบูรณะ จังหวัดอยุธยา. [Online] Available at: https://bit.ly/3Ieru02 [Accessed 20 February 2023].
  • สุนนท์ ปาลกะวงศ์ ณ อยุธยา. (2559). ปริทัศน์การศึกษาว่าด้วย “วัดราชบูรณะอยุธยา”. ฉบับที่ 30 (มกราคม-ธันวาคม 2559). สาขาวิชาการจัดการมรดกทางสถาปัตยกรรมกับการท่องเที่ยว คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า