Timeless Splendor เยือน ‘วัดราชบูรณะ’ หกศตวรรษแห่งตำนานวัดเก่าแก่คู่อยุธยา

เพราะอิฐแต่ละก้อนล้วนมีตำนาน…

กว่าก้อนดินสีส้มเข้มแต่ละก้อนจะก่อร่างสร้างตัวเรียงซ้อนทับกันจนเป็นซุ้ม กำแพง หรือเจดีย์ ย่อมต้องผ่านการลงทุนลงแรงมหาศาล และแน่นอนว่า เราซึ่งเป็นคนยุคปัจจุบันต่างสัมผัสได้ถึงร่องรอยของความงดงามและยิ่งใหญ่ในอดีตกาลทุกครั้งหากได้ไปเยี่ยมเยือน

วันนี้ VANDA’S ขอเอาใจคนรักประวัติศาสตร์สายโบราณคดี ชวนย้อนเวลาไปสำรวจ “วัดราชบูรณะ” อีกหนึ่งวัดเก่าแก่ชื่อดังแห่งอยุธยาที่บอกเลยว่าไม่มาไม่ได้! เพราะนอกจากความยิ่งใหญ่และความเข้มขลังของสถาปัตยกรรมแล้ว วัดแห่งนี้ยังโด่งดังเรื่องกรุสมบัติอันล้ำค่า รวมถึงตำนานอาถรรพ์ต้องสาปของเมืองกรุงเก่าที่ชวนให้ขนลุกอีกด้วย…

เล่าตำนานวัดเก่า เคล้าประวัติศาสตร์ไทย

ก่อนจะไปชมความยิ่งใหญ่ตระการตาของวัดเก่าแก่ในตำนาน เราขอเท้าความถึงประวัติวัดกันสักหน่อย “วัดราชบูรณะ” ตั้งอยู่ในเขตอุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา เดิมชื่อ “วัดราชปุณ” หมายถึง การอุทิศของพระราชา แต่หลังจากยุคสมัยเปลี่ยนผ่านได้กร่อนจากชื่อ “ปุณ” มาเป็น “บุรณ” จนกลายเป็น “วัดราชบูรณะ” ในที่สุด ตามพระราชพงศาวดารกรุงเก่า ฉบับหลวงประเสริฐฯ ระบุว่า วัดแห่งนี้สร้างขึ้นในรัชสมัยสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 2 (เจ้าสามพระยา) เมื่อปี พ.ศ. 1967 เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่สมเด็จพระอินทราชา (เจ้านครอินทร์) ผู้เป็นพระราชบิดาหลังจากเสด็จสวรรคตในปีเดียวกัน ซึ่งสร้างขึ้นในบริเวณที่ได้ถวายพระเพลิงพระบรมศพ นอกจากนี้ ยังเป็นบริเวณที่ถวายพระเพลิงศพให้กับเจ้าอ้ายพระยาและเจ้ายี่พระยา พระเชษฐาทั้งสองพระองค์ของเจ้าสามพระยาที่สิ้นพระชนม์ภายหลังจากการกระทำยุทธหัตถีอีกด้วย

กรุสมบัติล้ำค่า และเรื่องเล่าอาถรรพ์ต้องสาป

วัดเก่า ๆ กับเรื่องราวชวนขนลุกย่อมเป็นอะไรที่คู่กัน มานั่งไทม์แมชชีนย้อนกลับไปในปี พ.ศ. 2500 วัดราชบูรณะได้ลงข่าวใหญ่พาดหัวหนังสือพิมพ์ของประเทศไทย เนื่องจากถูกกลุ่มคนร้ายจำนวนหนึ่งลักลอบขุดกรุและลักทรัพย์สมบัติภายในพระปรางค์ประธานที่หลับใหลมาเนิ่นนานตั้งแต่สมัยอยุธยา ทั้งเครื่องทองและอัญมณีจำนวนมาก แม้ตำรวจจะตามกลับคืนมาได้บางส่วน แต่เชื่อว่าน่าจะสูญหายไปพอสมควร ต่อมากรมศิลปากรได้เข้าทำการบูรณะขุดแต่งเติมภายหลัง พบทรัพย์สมบัติที่หลงเหลือและเครื่องทองจำนวนมาก อาทิ เครื่องพุทธบูชาแด่พระบรมสารีริกธาตุ เครื่องราชกกุธภัณฑ์ เครื่องราชูปโภค (เครื่องใช้) และเครื่องถนิมพิมพาภรณ์ (เครื่องแต่งกาย) ของพระมหากษัตริย์และเจ้านายในสมัยอยุธยาตอนต้น อันเป็นหลักฐานแสดงถึงความเจริญรุ่งเรืองของกรุงศรีอยุธยาในอดีต
ปัจจุบันทรัพย์สมบัติภายในกรุถูกเก็บรักษาเป็นสมบัติของชาติไว้ ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา หากใครอยากเข้ามาสัมผัสคลังสมบัติล้ำค่าด้วยตาตัวเองแบบชิดใกล้ สามารถเข้าไปเยี่ยมชมกันได้เลยรับรองว่าต้องตื่นตาตื่นใจไปกับเครื่องทองหาดูยากอย่างแน่นอน
ส่วนตำนานเรื่องเล่าน่าขนลุกที่เล่าสืบต่อกันมาเกี่ยวกับสมบัติต้องสาปนั้น มาจากข่าวที่ว่า มีกลุ่มโจรลักลอบขุดกรุวัดราชบูรณะและขนสมบัติล้ำค่าออกไป หลังจากเหตุการณ์โจรกรรมผ่านไปไม่นาน ในที่สุดตำรวจก็สามารถตามจับโจรเหล่านั้นมาได้ สิ่งที่น่าประหลาดใจคือ แก๊งโจรขุดสมบัติ ทุกคนเหมือนต้องคำสาปจนชีวิตต้องย่อยยับอับปางไป บ้างก็เวียนวนเข้าออกตาราง บ้างก็กินเหล้าจนเมามายเสียสติ บ้างก็เจ็บป่วยทุกข์ทรมานด้วยโรคภัยไข้เจ็บ เรียกว่าเป็นตำนานความเชื่อเรื่องการลักขโมยสมบัติชาติที่เล่าต่อกันมาแต่ในอดีตนั่นเอง

เดินชมวัดราชบูรณะ สำรวจปรางค์ประธานองค์ใหญ่

รู้จักประวัติและตำนานเกี่ยวกับวัดราชบูรณะกันไปแล้ว ต่อไปเราขอพาไปชื่นชมความงดงามของสถาปัตยกรรมภายในวัดกันบ้าง เจาะลึกจุดศูนย์กลางของวัดแห่งนี้กันก่อนกับ “ปรางค์ประธาน” ทรงงาเนียมผสมฝักข้าวโพด ยอดปรางค์ประกอบไปด้วยชั้นอัสดงหรือชั้นครุฑแบก มีครุฑและยักษ์ยืนถือกระบองประจำมุม มีชั้นรัดประคด 7 ชั้น และซุ้มจระนำด้านทิศเหนือประดิษฐานพระพุทธรูปปูนปั้นประทับยืน ปางประทานพร ส่วนฐานล่างถึงบัวรัดเกล้าของเรือนธาตุ ก่อด้วยศิลาแลง และเหนือขึ้นไปก่อด้วยอิฐ ถือเป็นหนึ่งในพระปรางค์ที่มีขนาดใหญ่และงดงามแห่งหนึ่งของอยุธยา
นอกจากนี้ ภายในวัดยังประกอบด้วย ระเบียงคด พระวิหารหลวง พระอุโบสถ เจดีย์ราย และพระวิหารขนาดกลางและย่อมอีกจำนวนมาก ให้นักท่องเที่ยวดื่มด่ำศิลปะทางสถาปัตยกรรมได้อย่างเพลิดเพลิน
จุดไฮไลต์สำคัญที่ขึ้นชื่อของที่นี่ คือ กรุสมบัติภายในพระปรางค์ที่บรรจุสิ่งของล้ำค่าแบ่งออกเป็น 3 ชั้น ได้แก่ กรุชั้นที่ 1 ภายในบรรจุพระพุทธรูปและพระพิมพ์จำนานมาก ผนังทั้ง 4 ด้าน เขียนภาพจิตรกรรมภาพเทพชุมนุม และภาพบุคคลต่าง ๆ ที่มีลักษณะเป็นคนจีน
กรุชั้นที่ 2 ภายในกรุมีโต๊ะสำริด และบรรจุเครื่องทองจำนวนมาก ตามผนังเขียนภาพจิตรกรรมเกี่ยวกับพุทธศาสนาด้วยสีชาด
และ กรุชั้นที่ 3 ภายในประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ เมื่อก่อนนักท่องเที่ยวสามารถลงไปเยี่ยมชมภายในกรุได้ แต่ปัจจุบันองค์ปรางค์ประธานทรุดโทรมลงไปมาก จึงได้ปิดการเข้าชม เพื่ออนุรักษ์โบราณสถานให้คงสภาพไว้ โดยสมบัติภายในกรุได้ถูกนำไปจัดเก็บในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยา นอกจากจะจัดแสดงทรัพย์สมบัติและเครื่องทองแล้ว ยังได้จัดทำแบบจำลองภาพจิตรกรรมฝาผนังภายในกรุวัดราชบูรณะมาให้ชมเช่นกัน เรียกว่ายกวัดราชบูรณะในรูปแบบจำลองมาให้ชมกันแบบจัดเต็ม!
จากวันนั้นจนถึงวันนี้นับเป็นเวลา 600 ปีแล้ว ที่อารยธรรมโบราณอันงดงามสมัยกรุงศรีอยุธยาอย่างวัดราชบูรณะ ได้ส่งต่อร่องรอยแห่งความรุ่งเรืองสืบมา เพื่อให้คนรุ่นหลังได้สัมผัสถึงประวัติศาสตร์อันทรงคุณค่า และความยิ่งใหญ่ตระการตาของสถาปัตยกรรมแห่งยุคสมัย
VANDA’S เองก็ตระหนักถึงความสำคัญและความอลังการของกรุวัดราชบูรณะ จึงได้นำมาเป็นแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์ “VANDA’S Gallery” แฟลกชิปสโตร์แห่งใหม่ใจกลางเมืองมรดกโลก จะออกแบบมาเป็นอย่างไรบอกเลยว่าต้องรอติดตาม รับรองว่าไม่นานเกินรอ…
และสำหรับใครที่ยังไม่เคยมาเยี่ยมเยือนอยุธยา อย่าลืมปักหมุด “วัดราชบูรณะ” ไว้เป็นหนึ่งในลิสต์ที่ต้องมาให้ได้สักครั้งหนึ่ง!
อ้างอิง
  • MGR Online, 2561. เปิดกรุวัดราชบูรณะ ขโมยขุดพบห้องลับใต้พระปรางค์! ขนเครื่องทองคำราว ๑๐๐ กิโล พระ เครื่องกว่าแสนองค์!!. [Online]  Available at: https://mgronline.com/7 [Accessed 8 January 2566].
  • กระทรวงวัฒนธรรม, ก., 2557. โครงการจัดการความรู้ เรื่อง รูปแบบ ลวดลายประดับ และวัสดุก่อสร้างของพระปรางค์สมัยอยุธยา ประจำปีงบประมาณ 2557. [Online] Available at: https://www.finearts.go.th/ [Accessed 8 January 2565].
  • อยุธยา, ส. ป. ณ., 2559. ปริทัศน์การศึกษาว่าด้วย “วัดราชบูรณะอยุธยา”. ฉบับที่ 30 (มกราคม-ธันวาคม 2559). [Online] Available at: https://so04.tci-thaijo.org [Accessed 8 January 2566].

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า