Discover Ayutthaya : รู้จัก “อยุธยา” ให้มากกว่าที่เคย

ชวนมองอยุธยาในมุมที่ (คุณอาจ) ไม่รู้จัก สัมผัสเสน่ห์เมืองเก่าเคล้าประวัติศาสตร์ ย้อนดูความรุ่งเรืองของสถาปัตยกรรมโบราณและความรุ่มรวยของวัฒนธรรมอันหลากหลาย ผ่านการเล่าเรื่องเก่า ๆ ของคนกรุงเก่า เพราะเราอยากให้ “อยุธยา” ไม่ใช่เพียงแค่จังหวัดหนึ่งที่หลายคนเดินทางเพื่อมาท่องเที่ยวเท่านั้น แต่อยากให้เป็น “อยุธยาที่คนไทยภาคภูมิใจ” วันนี้ VANDA’S ชวนย้อนรอยอดีตเมืองกรุงเก่าพระนครศรีอยุธยาในฐานะเมืองมรดกโลกของไทย ยลเสน่ห์วัดและโบราณสถานเก่าแก่รอบเมืองตามแบบฉบับของแวนด้า พร้อมเรียนรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่น และสัมผัสวิถีชีวิตของผู้คนริมสายน้ำ

สำรวจร่องรอยแห่งความรุ่งเรือง

อยุธยาในฐานะ “เมืองมรดกโลก” 

ย้อนเวลากลับไปเมื่อ 30 กว่าปีก่อน (พ.ศ. 2534) “อุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา” ได้รับการประกาศขึ้นทะเบียนให้เป็นมรดกโลกจากองค์การยูเนสโก (UNESCO) ภายใต้ชื่อ “นครประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยาและเมืองบริวาร” ด้วยมรดกทางวัฒนธรรมอันโดดเด่นและทรงคุณค่ากว่า 417 ปี ที่กรุงศรีอยุธยาเคยเป็นอดีตราชธานีเก่า และเป็นดั่งศูนย์กลางทางเศรษฐกิจและการค้าที่สำคัญ ในช่วงระยะเวลาอันยาวนานนี้ กรุงศรีอยุธยา ได้สร้างสรรค์ผลงานทางสถาปัตยกรรม จิตรกรรม และหัตถกรรมด้านต่าง ๆ รวมทั้งหล่อหลอมขนบธรรมเนียมประเพณี และวัฒนธรรมความเป็นไทยให้สืบทอดต่อกันมาจวบจนปัจจุบัน ทำให้พื้นที่ทางประวัติศาสตร์ในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ได้รับการจดทะเบียนยกย่องลงในบัญชีมรดกโลกเป็นลำดับที่ 576 จากองค์กรระดับสากล นับเป็นหนึ่งในความภาคภูมิใจของคนไทยอย่างยิ่ง

แม้ความสมบูรณ์ของสถาปัตยกรรมจะหลงเหลือเพียงซากปรักหักพัง หรือรายละเอียดของงานจิตรกรรม และศิลปหัตถกรรมเก่าแก่จะสึกหรอผุพังหรือสูญหายไปจำนวนมากตามกาลเวลา ทว่าร่องรอยของความเจริญรุ่งเรืองในอดีตและความงดงามแห่งอารยธรรมไทยยังคงปรากฏให้เห็นจวบจนปัจจุบัน เพื่อให้คนรุ่นหลังได้ศึกษาและอนุรักษ์สืบไป  เชื่อว่าหลายคนต้องเคยเดินทางมาไหว้พระหรือเที่ยววัดและโบราณสถานที่จังหวัดอยุธยากันบ้างแล้ว แต่รู้หรือไม่ว่า? พื้นที่บริเวณอุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยาที่ได้จดทะเบียนมรดกโลกนั้นอยู่ตรงไหนบ้าง? วันนี้เราจะพาไปสำรวจพร้อมกัน… อุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา มีเนื้อที่ประมาณ 1,810 ไร่ ตั้งอยู่ในเกาะเมืองอยุธยา เขตเทศบาลเมือง โบราณสถานที่สำรวจพบมีอยู่ประมาณ 95 แห่งด้วยกัน แต่วันนี้เราขอลิสต์ชื่อมาให้รู้จักกันเน้น ๆ กับ 3 วัดดัง ที่บอกเลยว่า หากใครมาอยุธยาจะต้องมาเยือนให้ได้! 

  • วัดพระศรีสรรเพชญ์ อดีตวัดหลวงประจำพระราชวังโบราณ จุดเด่นคือเจดีย์ทรงลังกาขนาดใหญ่จำนวน 3 องค์เรียงต่อกันอย่างสง่างาม แผนผังภายในวัดจัดวางพระเจดีย์ล้อมกรอบเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าสลับกับวิหารแกลบ นับเป็นรูปแบบการจัดวางสิ่งก่อสร้างที่ชาญฉลาดและงดงามของช่างยุคโบราณ
  • วัดมหาธาตุ ในอดีตเป็นดั่งศูนย์กลางของเมือง สำหรับประกอบพระราชพิธีต่าง ๆ ภายในวัดประกอบด้วยพระวิหารหลวง พระปรางค์ประธาน พระอุโบสถ เจดีย์แปดเหลี่ยม และเศียรพระพุทธรูปหินทรายที่ปกคลุมด้วยรากต้นโพธิ์ ซึ่งเป็นหนึ่งในจุด Unseen ของอยุธยาที่เป็นเอกลักษณ์
  • วัดราชบูรณะ หนึ่งในวัดเก่าแก่ที่สุดในอยุธยา ไฮไลต์คือปรางค์ประธานที่ล้อมรอบด้วยระเบียงคด ภายในมีกรุสมบัติและมีจิตรกรรมฝาผนังอันสะท้อนให้เห็นถึงภูมิปัญญาของช่างฝีมือไทยในอดีต ปัจจุบัน ทรัพย์สมบัติภายในกรุถูกเก็บรักษาไว้ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยา ถือเป็นวัดที่มีความสำคัญต่อการศึกษาประวัติศาสตร์และงานศิลปกรรมในสมัยอยุธยาอย่างมาก

แม้จะยกตัวอย่างมาให้ชมเพียง 3 วัดดัง แต่ก็แสดงให้เห็นถึงความยิ่งใหญ่อลังการของสถาปัตยกรรมไทยโบราณได้เป็นอย่างดี อิฐแต่ละก้อนที่เรียงทับถมกันอย่างประณีตแน่นหนา การออกแบบที่โอ่อ่าตามความเชื่อความศรัทธาในศาสนาพุทธ หากใครยังไม่จุใจ อยากสำรวจและสัมผัสความรุ่งเรืองในอดีตให้มากกว่านี้ สามารถเดินทางไปเยี่ยมชมวัดอื่น ๆ ในบริเวณใกล้เคียงในเขตมรดกโลกได้อีก อาทิ วิหารพระมงคลบพิตร วัดพระราม วัดธรรมิกราช วัดญาณเสน วัดโลกยสุธาราม และวัดวรโพธิ์ เป็นต้น

เรียนรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่น 

สัมผัสวิถีชีวิตชาวอยุธยา

นอกจากวัดและโบราณสถานเก่าแก่แล้ว อยุธยายังเปี่ยมไปด้วยวัฒนธรรมและประเพณีอันหลากหลายที่น่าภาคภูมิใจ โดยเราขอหยิบยกหนึ่งในงานหัตถกรรมเก่าแก่ของอยุธยาที่สืบต่อกันมาตั้งแต่บรรพบุรุษนานกว่า 100 ปี อย่าง “การสานปลาตะเพียนใบลาน” แรงบันดาลใจที่มาจากความผูกพันอยู่กับสายน้ำ จึงก่อเกิดเป็นหัตถกรรมจากภูมิปัญญาท้องถิ่น ในอดีตนิยมใช้เป็นของเล่น กล่อมเด็ก หรือตกแต่งบ้านเรือน ปัจจุบันเริ่มเลือนหายไปตามสมัยนิยม เนื่องจากการคืบคลานเข้ามาของเทคโนโลยีสมัยใหม่ แต่บางชุมชนก็ยังคงอนุรักษ์เป็นอาชีพไว้ เพื่อไม่ให้สูญหายไป ส่วนงานหัตถกรรมอื่น ๆ ที่โดดเด่นในอยุธยา เช่น เครื่องจักสาน การประดิษฐ์ดอกไม้จากต้นโสน การแกะสลักไม้ และการทำมีดอรัญญิก เป็นต้น

อีกหนึ่งภูมิปัญญากินได้ที่ไม่พูดถึงไม่ได้คือ “อาหารท้องถิ่น” ของอยุธยาที่ได้รับการส่งต่อมาแต่โบราณ อาหารที่รับประทานจะเน้นความสดใหม่ แต่ก็มีการถนอมอาหารด้วยเช่นกัน เมนูหลัก ๆ แน่นอนว่าต้องมีส่วนผสมของปลา เนื่องจากวิถีชีวิตของคนอยุธยาอาศัยอยู่ริมน้ำนั่นเอง กลายเป็นภูมิปัญญาที่ต้องปรับตัวไปตามฤดูกาล ส่วนขนมหวานนั้น เป็นขนมที่ได้รับอิทธิพลมาจากต่างชาติอย่างโปรตุเกส อาทิ ทองหยิบ ทองหยอด และฝอยทอง 

แต่ไม่ใช่ว่าอยุธยาจะต้องขายแต่ความเป็นประวัติศาสตร์และของเก่าโบราณกาลเท่านั้น ด้วยจิตวิญญาณความเป็นเมืองที่พร้อมเปิดรับอะไรใหม่ ๆ ทำให้อยุธยาในวันนี้ปรับเปลี่ยนเมนูอาหารขึ้นชื่อเป็นกุ้งเผาตัวใหญ่เบิ้ม และโรตีสายไหมแสนหวาน ที่ใครแวะเวียนมาต้องซื้อติดไม้ติดมือกลับไปด้วยทุกครา

เสร็จสิ้นภารกิจเรียนรู้เรื่องราวแห่งภูมิปัญญาไทย เราชวนมาเดินเนิบนิ่งริมสายนที สัมผัสวิถีชีวิตริมแม่น้ำ 3 สายสำคัญ คือ เจ้าพระยา ป่าสัก และลพบุรี สายน้ำแห่งชีวิตที่หล่อหลอมชาวอยุธยามานานหลายศตวรรษ จนกลายเป็นเมืองที่ได้รับการขนานนามว่าเป็นดั่งอู่ข้าวอู่น้ำที่อุดมสมบูรณ์ของไทย ไม่ว่าจะในอดีตหรือปัจจุบันอยุธยาก็ยังคงเป็นเมืองพหุวัฒนธรรมที่สำคัญของเสมอมา สำหรับ VANDA’S อยุธยาจึงเป็นดั่งความภาคภูมิใจ และเป็นหนึ่งในแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์ผลงานอันล้ำค่า เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการสืบสานตำนานศิลป์ไทยคงอยู่สืบไป

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า